เข้าใจเด็กไอที เสริมภูมิต้านทานภัยเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

       
เข้าใจเด็กไอที เสริมภูมิต้านทานภัยเทคโนโลยี

              ปัจจุบันตามเมืองที่ความเจริญทางเทคโนโลยีเข้าถึง เด็กน้อยคนนักที่จะไม่เคยได้สัมผัสคอมพิวเตอร์หรือท่องโลกอินเตอร์เน็ต บ้างก็คุยกันมีเมล์มั้ย? แชทได้ป่าว? มี Hi5 หรือยัง? เคยเล่นเกมนี้หรือยัง? แบ่งแยก "เด็กอิน(เทรน)" กับ "เด็กเอ้าท์" ใครไม่เคยใครไม่มีก็เชยสุดๆ ซึ่งมันไม่ผิดเลยถ้าเด็กจะหันไปหาเทคโนโลยีมากขึ้นเพราะเมื่อมองรอบข้างแล้วมันก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งมือถือ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต แล้วนี่ 3G ก็มาเยือนแล้ว แต่เมื่อมองถึงปัญหาของเด็กกับภัยเทคโลยีในขณะนี้ อะไรเล่าที่เป็นส่วนหนึ่งปัญหา เด็ก เทคโนโลยี หรืออะไรกันแน่


ตลอดปีที่ผ่านมาศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งและให้คำปรึกษาอยู่หลายรายจนพบว่า ช่องโหว่หรือส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเด็กหายทั้งในกรณีติดเกม ติดแชท นั่นก็คือ "ช่องว่างระหว่างวัยของคนในครอบครัว" เพราะในแต่ละรุ่นจะมีเรื่องพื้นฐานความคิดความอ่านไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ในครอบครัวเดี่ยวจะพบว่ามีคน 2 รุ่นอยู่ร่วมกัน อันได้แก่ รุ่นลูกและรุ่นพ่อแม่ สำหรับครอบครัวใหญ่ก็จะมีราว 4 รุ่น คือ รุ่นลูก รุ่นพ่อแม่ รุ่นลุงป้าน้าอา และรุ่นปู่ย่าตายาย


ส่วนใหญ่แล้วรุ่นที่จะมีความเข้าใจและใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่วจะเป็นรุ่นลูก
ส่วนรุ่นของพ่อแม่ก็จะพอทราบว่ามันมีคอมพิวเตอร์มีอินเตอร์เน็ตนะ อาจจะพอทราบว่าใช้งานอย่างไรหรือนำไปสู่อะไรได้บ้างแต่ไม่เคยใช้งานเอง
ถัดมาเป็นรุ่นปู่ย่าตายายรุ่นนี้อาจจะไม่ทราบเลย แล้วช่องว่างระหว่างวัยนี้ก่อให้เกิดปัญหาได้อย่างไร
เมื่อรุ่นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งมีความแตกต่างเรื่องความรู้สึกนึกคิดอยู่แล้ว และไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ของเด็ก เช่น การเล่นแชท การเล่นเกม จนเกิด การดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรงและการห้ามปรามโดยไม่ให้เล่นคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตอย่างเด็ดขาด บางรายถึงขั้นลงไม้ลงมือ ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงบางรายตัดสินใจออกจากบ้าน เมื่อ "ไม่อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" แต่สิ่งที่ทำนี้จะเปรียบเสมือน "การหักไม้"








 สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครอบครัวไทยกับเด็กไอทีในวันนี้ คือ ความรัก ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ในแบบฉบับของเด็กยุคใหม่ ผู้ใหญ่ต้องพอรู้ความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่บุตรหลานเข้าถึง ทำความเข้าใจสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้คำแนะนำหรือตักเตือน และหมั่นทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว อาจจะต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวเข้าหากันสักพักใหญ่ แต่เชื่อได้ว่าช่องว่างระหว่างวัยของคนในครอบครัวจะเริ่มลดทอนความแตกต่าง ซึ่งในอีกทางหนึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานภัยเทคโนโลยีให้เด็กๆ ได้อีกด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น